มิถุนายน 13, 2020

Prig Kaeng – พริกแกง

เรื่องย่อหนัง
ภาพยนตร์ที่มาปลุกกระแสความเป็นไทย ให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของ อาหารไทย ในภาพยนตร์เรื่อง Chili and Spice หรือชื่อไทยว่า พริกแกง เรื่องราวของสองครอบครัวที่ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นอาหารไทยเอาไว้ให้คงอยู่ “ครอบครัวคุณแทนทอง” เจ้าของกิจการร้านอาหารไทย ผู้มีคติว่า “อาหารไทยแบบดั้งเดิม ต้องมีรสชาติของความเป็นไทย” ซึ่งมีภรรยาและลูกสาว ที่รักในอาหารไทยเช่นเดียวกันร่วมดูแล “สมบัติ” ผู้จัดการร้าน ที่มีคุณแทนทองเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิต และเขาเองก็ต้องการสืบสานปณิธานที่จะรักษาแบบฉบับความเป็นอาหารไทยแบบดั้งเดิม เพื่อให้เชฟรุ่นใหม่เข้าใจว่า “อาหารไทยนั้นต้องเป็นไทย”

“อาจารย์พิมพ์” อาจารย์ที่ต้องการสอนให้นักศึกษามีความเข้าใจ ถึงความเป็นอาหารไทยอย่างลึกซึ้ง จนถึงวันสุดท้ายของการทำงาน “ตุลา” ลูกชายคนเดียว ทำงานเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน วันนึงได้มีโอกาสออกแบบร้านอาหารไทย จึงทำให้มาพบกับ สมบัติ และทำให้ได้มารู้จักกับครอบครัวคุณแทนทอง เจ้าของร้านอาหารไทย ด้วยภาษาอาหารที่อบอวลและอบอุ่น จึงโยงใยสองครอบครัวนี้เอาไว้ด้วยกัน
ตัวอย่างหนังออนไลน์

รีวิวหนัง
พริกแกง | Senses from Siam (ประเสริฐสุข เหมทานนท์, สิทธิชัย ไผ่งาม, เมธี ปัญญาวิชา / Thailand / 2016)

มีคนวานไว้ว่าถ้าไปดู พริกแกง ให้นับคำว่าอาหารไทยในหนังมาหน่อย ก็เอาคร่าวๆ ไปก่อนว่านั่งติ๊กนับคำว่าอาหารไทย/ขนมไทย/คนไทย/ไทยๆๆ ทั้งไดอะล็อกและเท็กซ์ได้รวมๆ แล้วอยู่ราว ๕๐ ครั้ง ได้.. บวกลบไม่น่าจะเกิน ๕

ส่วนตัวก็ไม่ได้เลี่ยนเอียนอะไรกับคำพวกนี้ เพราะตามบริบทและตัวละครก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงคิดแบบนี้พูดแบบนี้ พูดกับใครและเพื่ออะไร นอกจากเวลาที่ตัวละครตัวไหนแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของราวๆ ว่า ‘อาหารไทยของฉันต้องดีเป๊ะ’ ‘ถ้าพูดถึงอาหารไทยแล้วเราคือหนึ่งเดียว’ ก็คิดว่าหนังไม่ได้ตั้งใจจะดูแคลนใครหรอก คงแค่จะบอกว่ากูคือเดอะเบสต์คือคนทำอาหารไทยที่มีคุณภาพที่สุดแค่นั้นแหละ แต่มันมีน้ำเสียงและท่าทีที่หากพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวข้างทางได้ยินพวกมึงต้องสำเหนียกพิจารณาว่าส้มตำรถเข็นที่กูตำตามใจปากลูกค้า หรือผัดไทถนนข้าวสารที่กูปล่อยให้ฝรั่งกินกับน้ำจิ้มไก่ตามใจชอบมันยังเป็นอาหารไทยแท้หรือเปล่านะ กูจะสบายใจบอกกับนักท่องเที่ยวที่มากินสตรีทฟู้ดได้อย่างสบายใจได้อีกต่อไปหรือไม่ว่าอาหารข้างทางที่พวกเขากินคืออาหารไทย พอโดนตรงนี้เนี่ยแหละ..สีหน้าแบบเหม็นอ้วกถึงจะผุดขึ้นมาแสดงความรู้สึกแบบอัตโนมัติ แล้วอ้วกออกมาเป็นกลิ่นลูกมะมาดผิวแห้งกลมขรุขระสีน้ำตาลด้วยนะ ควรต้องกลิ่นแรงๆ ด้วย น้อยไปมันไม่ดีพอ

องค์ประกอบหนังรวมๆ มีความน่าสนใจให้อยากรู้อยากเห็นอยู่บ้างอย่างประวัติศาสตร์อาหารผ่านกาพย์กลอนกษัตริย์ราชวงศ์ ศิลาจารึก หรือการมีอยู่ของอาหารไทย(ทั้งชื่อไทยและไม่ไทย)หลากหลายตั้งแต่พื้นๆ ที่หากินได้ตามตลาดนัด อย่างเช่น ข้าวต้ม ไข่ด่าว ไข่เจียว ผัดไท ผัดซีอิ๊ว ผัดเปรี้ยวหวาน ทองหยิบ ทองม้วน ลูกชุบ ปอเปี๊ยะ ไปจนถึงอาหารและขนมโบราณหรือไม่คุ้นหูคุ้นตาอย่าง น้ำพริกลูกมะมาด ขนมมัศกอด(ที่เหมือนๆ คัพเค้ก) เกสรลำเจียก(ที่มองไกลๆ คล้ายๆ โรตีสายไหม) ประเพณี ๔ ถ้วย ที่มี ไข่กบ(เม็ดแมงลัก) นกปล่อย(ลอดช่อง) บัวลอย(ข้าวตอก) อ้ายตื้อ(ข้าวเหนียว) น้ำกะทิ ฯลฯ ดูแล้วก็เก็บไว้เป็นความรู้ทั่วไปจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาหาอ่านเอาตามเน็ต เออว่ะ..มันก็หาอ่านตามเน็ตได้นี่เนอะ..ดีกว่าหน่อยคือมันดูน่ากินและน่าจดจำง่ายกว่ารูปในเน็ต

หนังค่อนไปทางน่าเบื่อ บาลานซ์ตัวละครได้ประหลาดต่อการรับรู้มาก มีความพยายามทั้งดราม่าทั้งรอมคอมแต่ไม่ประสบความสำเร็จสักทาง แล้วก็ไม่มีอะไรให้ชมว่าดีนอกจากฟู้ดช็อตน่ากินๆ ที่ทำให้ดูไปได้เรื่อยๆ ได้อยู่ แต่ดูให้บันเทิงมันก็บันเทิงได้บ้างอยู่นะ ก็บันเทิงแบบนั้นแหละ แบบลักลั่นๆ ย้อนแย้งกันไปมามันตลกดี คือจะเอ็นจอยทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าเชฟ ซีอิ๊ว ก๋วยเตี๋ยว หรือซอส สลับกับคำว่าไทยๆๆ รวมถึงชื่อตัวละครความหมายแฝง อย่าง สมบัติ(สตาร์บัค-พงศ์พิชญ์ ผู้สืบทอดอาหารไทย) และตัวสมทบต่างๆ โดยเฉพาะตัวประกอบนักเรียนทำอาหารวัยรุ่นทั้งหลายที่ได้ยินแล้วจั๊กจี้ดี อย่างเช่นชื่อว่า กุมาร ธนูทอง? โสภา สมหญิง และสดับพิณ ที่พยายามจะไทยไปไหน แต่ไทยไม่แท้สักชื่อ มีแต่ชื่อ แทนทอง(หนิง-นิรุตติ์ ศิริจรรยา) นี่มั้งไทยแท้..ป่ะนะ? อืมก็คงเป็นความตั้งใจแต่พอเยอะๆ เห็นชัดๆ แล้วมันคลิเชๆ แต่ก็พูดได้ว่ามันกลายเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งไปที่ต้องคอยรอฟังชื่อตัวละครใหม่ๆ พอๆ กับรอดูอาหารเลยนะว่าจะมีชื่อไหนอาหารอะไรโผล่มาบ้าง ซึ่งก็แปลกหูแปลกตาพอๆ กัน ซึ่งน่าติดตามมากกว่าเรื่องราวและเนื้อหนังเองเสียอีก

สดับพิณนี่พีคสุด ใครไปดูก็ต้องพูดถึง นักเรียนทำอาหารคนเก่งที่ครู(พิมพ์แข กุญชร ณ อยุธยา) ปลื้มในความรู้ความสามารถ แต่ไม่ปลื้มที่สดับพิณทำผมสีทองเทาๆ ซึ่งถูกมองว่าไม่อยู่ในกฎในเกณฑ์ ก็เลยสั่งให้ไปย้อมผมดำมา แถมในชั่วโมงเรียนสุดท้ายสดับพิณยังทำแกงส้มกับผัดเปรี้ยวหวานมาไม่ตรงตามหลักการกินในรสชาติที่ถูกต้องของครูอีก ครูก็บอกว่าอาหารสองอย่างนี้มันมีสามรสเหมือนกัน จับคู่กันแล้วไม่โอเค ถ้าเธอชอบกินแกงส้มเธอก็ควรจะกินคู่กับหมูหวานหรือไข่เจียวสิ เธอเป็นคนเก่งนะ แต่ครูก็อยากให้เธอเคารพในสิทธิของคนอื่นด้วย เอ๊าาาาาาา..สอนเรื่องเคารพสิทธิู้คนอื่นแต่สั่งคนอื่นย้อมผม หัวเขาผมเขาป่ะ เกี่ยวอะไรกับการทำอาหารก็บอกบ้าง ซึ่งลึกๆ เราก็หวังและเชื่อว่าตัวละครหรือคนทำทรีตว่ามันเกี่ยวซึ่งอาจจะสมเหตุสมผลบ้างอย่างเช่นเรื่องการอ่อนตามเพื่อเรียนรู้แต่พอไม่บอกนี่มันบางและแบนไปหมด

แล้วจะกินอะไรกับอะไรก็ยุ่งยากจังอ่ะ จริงๆ พอจะเข้าใจเป้าในการติเรื่องจับคู่อาหารของตัวละครหรือคนทำนะ แต่ดันไม่ขยายเพิ่มว่าเพื่ออะไรเพราะอะไร รสชาติที่หลากหลายขึ้นมันดีต่อการขายการดึงดูดผู้บริโภคอะไรก็ว่าไปสิ แต่นี่พอใช้คำว่า ‘ถ้าเธออยากกิน’ ไม่ใช่ ‘ถ้าเธออยากให้คนอื่นกินหรือให้คนอื่นชอบอาหารที่เธอทำ’ มันก็เลยเหมือนการไปบังคับสิทธิส่วนตัวกันมากกว่า ซึ่งผิดเมสเสจที่อยากสื่อ ซึ่งความลักลั่นอีหร็อบเดียวกันนี้มันกระจายอยู่ในหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่อง

สุดท้ายไม่ผิดคาดสดับพิณก็ต้องย้อมผมดำนั่นแหละ เพราะหนังเล่นท่าไม้ตายครูลาออก ด้วยความที่อยากแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นลูกศิษย์ที่ดีมีความกตัญญูในสายตาครู สดับพิณก็ต้องยอมย้อมผมดำทำซึ้ง และในฉากนั้นหลังจากสดับพิณกราบไหว้ครูเสร็จครูก็สำผัสปอยผมเบาๆ อย่างภาคภูมิใจ และถามอย่างแผ่วเบาว่า สดับพิณเธอย้อมผมร้านไหน? อ้าว..ร้านเดียวกันกับครูเลย (มองไปที่หัวครูที่ย้อมผมปิดผมหงอกดำมันขวับมาเหมือนกัน) ผมดำงามอย่างไทย ครูภูมิใจในตัวเธอจริงๆ ฟินนนนน!!!

ถ้าใครอยากลองดูก็ให้ถือเสียว่าการเบ้ปากมองบนดึงขมับเป็นกิจกรรมบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าจะได้รู้สึกว่าได้ประโยชน์กับเวลาที่เสียไปอยู่บ้าง แต่เอาจริงๆ แค่ได้นั่งดูฟู้ดช็อตได้เห็นอาหารไทยแปลกตาหายากบนจอหนังมันก็รู้สึกดีในอีกมุมอยู่นะ แต่นั่นก็ต้องต้านทานมวลเนื้อหนังพังเพทั้งหลายให้ได้